วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เนคเทคดันเทคโนโลยีสู่ "สมาร์ทฟาร์ม" นำร่องที่ทุ่งกุลาร้องไห้

        ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ริเริ่มทำโครงการสมาร์ฟาร์ม (Smart Farm) นำผลงานวิจัยด้านซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากฟาร์มสู่ตลาด เริ่มลงพื้นที่ 5 ชุมชนต้นแบบในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเบื้องต้นได้นำผลงานไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงานพิธีเปิด "งานชุมนุมยุวเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ครั้งที่ 2" ณ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา


 

       โครงการ สมาร์ท ฟาร์ม มีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 52-56 โดยเนคเทคจะนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนต้นแบบ 5 แห่ง ที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีช่วยตั้งแต่การวางแผนการผลิต ควบคุมคุณภาพ ไปจนถึงการบริหารจัดการและการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความสิ้นเปลือง เพิ่มคุณภาพของผลผลิต และเป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ตลาดโลกต่อไปในอนาคต 

       เริ่มจากกระบวนการผลิตที่จะต้องมีการตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่างและความอุดมสมบูรณ์ โดยเซ็นเซอร์วัดพีเอช (pH) และเซ็นเซอร์วัดปริมาณแร่ธาตุสำคัญในดิน คือ เอ็นพีเค (NPK) หรือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ซึ่งใช้หัวอิเล็กทรอนิกส์วัดความอุดมสมบูรณ์ของดินได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีช่วยในการวัดแบบวิธีเดิม และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการให้ปุ๋ยแก่พืช ทว่าเซ็นเซอร์วัด NPK อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนนี้ ส่วนเซ็นเซอร์วัด pH พัฒนาเสร็จเรียบแล้ว

 


        "จากข้อมูลของนักวิจัยด้านการเกษตรพบว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีการใช้ปุ๋ยเคมีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งบางครั้งใช้มากเกินไปโดยไม่จำเป็น แต่หากเราตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ในดินก่อน จะช่วยลดการความสิ้นเปลืองในการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมีได้ และสามารถผลิตปุ๋ยในสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการได้ในรูปแบบปุ๋ยสั่งตัด โดยใช้เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติที่เนคเทคพัฒนาขึ้น แล้วเชื่อมต่อเข้ากับซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการผลิตปุ๋ยสั่งตัดโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นปุ๋ยที่มีแร่ธาตุอาหารเพียงพอกับความต้องการของดินและพืช" ดร.อัศนีย์ อธิบาย โดยขณะนี้ได้ร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสูตรปุ๋ยสั่งตัดที่เหมาะสมกับข้าวและข้าวโพดได้แล้ว และจะขยายไปสู่พืชอื่นๆ ต่อไป

       นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องวัดสภาพอากาศขนาดเล็ก เพื่อตรวจวัดและติดตามข้อมูลสภาพอากาศในแปลงเพาะปลูก ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง ทิศทางและความเร็วลม ซึ่งมีผลต่อการปลูกข้าว และข้อมูลที่ตรวจวัดได้จะช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาผลผลิตข้าวได้ดียิ่งขึ้น และช่วยในการวางแผนการปลูกในครั้งต่อไปได้



        ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาพอากาศ จะถูกรวบรวมและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล พัฒนาแผนที่ N-P-K โดยการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการผลิตหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในกระบวนการผลิต ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะถ่ายทอดให้ชุมชนนำร่องนำ ได้แก่ เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกแบบพกพา และจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยควบคุมความชื้นทั้งในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ และความชื้นในข้าวเปลือก ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น และช่วยควบคุมคุณภาพความหอมและใช้กำหนดมาตรฐานความหอมของข้าวหอมมะลิจากชุมชนแต่ละแห่งที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป รวมทั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลเขตชลประทาน หรือต้องการใช้พลังงานสะอาด

       นอกจากนี้ผู้บริโภคจะยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ของชุมชนในโครงการสมาร์ทฟาร์มได้ด้วยเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติ หรือ คิวอาร์โค้ด (QR CODE) ที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยใช้โทรศัพท์มือถือ หรือตรวจสอบย้อนกลับโดยตรงผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยกรอกรหัสสินค้าเข้าไปในเว็บไซต์ของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร








ที่มา :


เนคเทคดันเทคโนโลยีสู่ "สมาร์ทฟาร์ม" นำร่องที่ทุ่งกุลาร้องไห้. [Online]. เข้าถึงได้จาก :http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000064418. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 23 สิงหาคม 2555).




น.ส.ศศิธร ระหงษ์ (ตุลา)

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นการคิดค้นเทคโนโลยีที่ให้ประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้ง มนุษย์และโลก อีกทั้งเทคโนโลยียังช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรตรงตามเป้าหมายและได้คุณภาพด้วย

    นายอธิคม คำสอนทา (ก๊อบ)

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น