วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ระบบจ่ายเชื้อเพลิงร่วมดีเซล-ก๊าซแอลพีจี



ปัญหาราคาน้ำมันที่ถีบตัวพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ได้สร้างความเดือดร้อนไปทุกภาค ส่วน เนื่องจากน้ำมันได้เข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง การขนส่ง การผลิตสินค้า รวมถึงในภาคเกษตรกรรม

แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันของประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำมันมีอย่างจำกัด ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนอย่างมากในตลาดโลก ซึ่งประเทศไทย ต้องสั่งซื้อน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้กับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลกว่า 6 ล้านคัน

โดยรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเหล่านี้ ถือเป็นต้นทุนหลักของภาคการขนส่ง และภาคการเกษตร แม้ว่าประเทศไทยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชย เพื่อพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้ปรับสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่จำนวนเงินก็มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถชดเชยได้ตลอดไป

การลดปริมาณการใช้น้ำมันให้น้อยลงและหาวิธีการใช้พลังงานทดแทน จึงเป็นทางออกหนึ่งในภาวะน้ำมันแพงแบบนี้ ซึ่ง ทาง ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงได้คิดค้นทำการวิจัยเรื่อง “การเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงร่วมระหว่างน้ำมันดีเซลกับก๊าซ แอลพีจี (LPG) ขึ้น เพื่อหวังที่จะลดต้นทุนเรื่องราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำลง

ดร.สุรเชษฐ กล่าวว่า เนื่องจากราคาน้ำมันทั่วโลกมีอัตราที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจยังน่าเป็นห่วงอยู่ จึงคิดทำวิจัยในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมขนส่งให้ได้ 50% หรือลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินตราของประเทศได้กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท การใช้ก๊าซแอลพีจีผสมน้ำมันดีเซลจะต้องลดคาร์บอน ฟุต พริ้นต์ (CARBON FOOT PRINT) ลงกว่าเดิม และต้องไม่เพิ่มความร้อนให้กับเครื่องยนต์ เมื่อก๊าซหมดถังแล้วยังสามารถกลับมาใช้น้ำมันได้ตามปกติ

สำหรับขั้นตอนการทำ ได้เริ่มทดลองโดยอาศัยก๊าซซีเอ็นจี (CNG) ก่อน ซึ่งต้องใช้ก๊าซมิกเซอร์เข้ามาช่วยทำให้ก๊าซซีเอ็นจี เฉื่อยลง จากนั้นก็ปรับปรุงอีซียู (Electronic Control Unit) ใหม่ทั้งหมดให้เป็นแบบออโตเมติก สำหรับขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ การเปลี่ยนก๊าซมิกเซอร์ ที่สามารถทำให้ก๊าซแอลพีจีเฉื่อยลง โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ดีเซล และต้องมีอีซียูที่พัฒนาเองเป็นตัวแปรสำคัญในการทดลอง

ดร.สุรเชษฐ กล่าวต่อว่า จากการทดลองของงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า มีผลทำให้รถยนต์มีกำลังแรงม้าและแรงบิดเพิ่มขึ้นกว่า 50% และช่วยประหยัดน้ำมันดีเซลกว่า 50% ของอัตราการใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม ขณะที่ความร้อนของเครื่องยนต์ก็คงที่ ส่วนควันที่ออกมาจากการใช้ก๊าซแอลพีจี สามารถลดจำนวนคาร์บอนได้เกินครึ่งของปริมาณเดิม และเมื่อใช้ก๊าซจนหมดถังแล้ว ยังสามารถกลับไปใช้น้ำมันดีเซล เพื่อขับขี่ได้อย่างต่อเนื่องด้วย

“ผลการวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์สามารถลดต้นทุนการผลิต การเกษตรและการขนส่งในด้านต่าง ๆ ให้ลดลงกว่า 25% ช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ถึง 60% ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ลงทุนติดตั้งเฉพาะอุปกรณ์เสริม โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ใด ๆ” ดร.สุรเชษฐ กล่าว



ที่มา:ระบบเชื้อเพลิงร่วมดีเซล-ก๊าซแอลพีจี.[online].เข้าถึงได้จาก http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=319&contentID=118542.(วันที่สืบค้นข้อมูล:23 สิงหาคม 2555).

นายอธิคม คำสอนทา (ก๊อบ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น